สุเมธ ราชประชุม และชัยณรงค์ เขียวแก้ว1
1* โรงเรียนห้วยกรดวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุทัยธานี ชัยนาท จังหวัดชัยนาท
* E-mail : huaikrot@huaikrot.ac.th
บทสรุป
โรงเรียนห้วยกรดวิทยา ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยกรด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท มีรูปแบบการบริหารจัดการเชิงคุณภาพในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านแนวคิดการบูรณาการบนพื้นฐานวัฒนธรรมท้องถิ่นห้วยกรด ด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) โดยเน้นให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีการปรับใช้สื่อการเรียนรู้ที่เหมาะกับยุคสมัยและการใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ., 2562) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด มีการบริหารจัดการหลักสูตรโรงเรียนในเชิงของการ
บูรณาการในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้โดยใช้ประวัติศาสตร์เป็นบริบท (Contexts) และบูรณาการประวัติศาสตร์กับหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม โดยจัดทำหน่วยการเรียนรู้เรื่อง เล่าขานตำนานห้วยกรด โดยนำประวัติศาสตร์ตำบลห้วยกรดมาเล่าเรื่องผ่านวิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อพัฒนาผู้เรียน ทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นไปด้วยความสนุกสนาน มีความหมายและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2566)
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจเลือกบทเรียนที่ต้องการเรียนรู้ในลักษณะกลุ่ม หรือศึกษาด้วยตนเอง ผู้เรียนจะร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกขั้นตอน ฝึกปฏิบัติการวางแผนการทำกิจกรรม การเรียนรู้ร่วมกัน และเกิดชิ้นงานผลการเรียนรู้ (พัศดา จิราสิทธิ์, 2555) มีขั้นตอนดังนี้ (1) กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ โดยศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น เช่น ประวัติตำบลห้วยกรด ประวัติวัดต่าง ๆ ตำนานวัดแม่มาหาลูก เป็นต้น ในพื้นที่ตำบลห้วยกรด (2) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้แสดงออกด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ (3) สร้างความเข้าใจของผู้เรียนเองโดยการวิเคราะห์และสังเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากผลของการสะท้อนความคิดและอภิปรายเพื่อนำไปสู่การเกิดความคิดรวบยอดให้เป็นความรู้ของตนเอง และ (4) นำผลจากขั้นความคิดรวบยอดที่เกิดขึ้นใหม่ไปประยุกต์ใช้ในลักษณะหรือสถานการณ์ต่างๆ สร้างสรรค์เป็นชิ้นงานเพื่อนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น
ผลจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning วิชาประวัติศาสตร์ที่บูรณาการบนพื้นฐานวัฒนธรรมท้องถิ่นห้วยกรด ด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้และเข้าใจในองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด และเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย พร้อมทั้งการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน โดยจัดทำเป็นหน่วยบูรณาการการเรียนรู้ เรื่องเล่าขานตำนานห้วยกรด ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันในทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มีการรวบตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อน บูรณาการการวัดและประเมินผล เป็นการลดเวลา ลดภาระของทั้งครูและผู้เรียน จนสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานของตนเอง และนำไปต่อยอดในชีวิตได้ สอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร ได้แก่ มาตรฐานตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
ดาวน์โหลดไฟล์